อสังหาริมทรัพย์ต่างจากทรัพย์สินอื่นๆอย่างไรบ้าง

อสังหาริมทรัพย์ คือ  ที่ดินและทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ มีลักษณะถาวรหรือประกอบเป็นส่วนเดียวกันกับที่ดิน ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อประกอบการวางแผน การลงทุน หรือเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นั่นเอง

อสังหาริมทรัพย์ต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ ดังนี้

ราคาสูง

ราคาอสังหาริมทรัพย์ 1 ชิ้น  จะมีความแตกต่างจากทรัพย์สินอื่นทั่วๆ ไป คือมีราคาสูงกว่าสินค้าอื่นๆ ใช้เพื่อการยังชีพ เช่น  อาหาร เสื้อผ้า  ยารักษาโรค หรือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมถึงสินค้าพวกของประดับตกแต่งขนาดเล็กจะมีราคาสูงก็ตาม แต่ถ้าเทียบราคาต่อชิ้นของอสังหาริมทรัพย์ เช่น  บ้าน สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงงาน คอนโด ย่อมจะมีราคาสูงกว่ามาก

มีอายุยืนยาว

อสังหาริมทรัพย์นอกจากจะมีราคาสูงแล้วยังมีอายุยืนยาวด้วย อายุของอาคารแห่งหนึ่ง  ประมาณ 100 ปี ส่วนอายุขัยทางเศรษฐกิจอาจจะแคบลงกว่า โดยทั่วไปจะมีการกำหนดไว้ประมาณ 50 ปี หากกรณีที่เกินกว่านี้นั้น ก็จะก่อให้เกิดความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุผลในการรื้อถอนอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆที่มีความคุ้มค่ากว่า

เป็นตัวแปรตาม

ตัวแปรตามในที่นี้ หมายถึง ราคาของอสังหาริมทรัพย์ จะไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กายภาพของตัวทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นๆ อยู่ที่ทำเลด้วย  เช่น อาคารพาณิชย์คูหาหนึ่ง รูปแบบเหมือนกัน แต่อยู่คนล่ะแห่ง ย่อมมีราคาแตกต่างกัน ถ้าพูดถึงอนาคตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สงคราม ฯลฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งหากจะคิดวิเคราะห์ว่าอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า จะเป็นอย่างไร ก็จะพิจารณาจากปัจจัยภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญเช่นเดียวกัน

ราคาเพิ่มขึ้น

อสังหาริมทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้นในระยะยาว จากสถิติชี้ให้เห็นว่า ในระยะยาว เช่น 40 หรือ 60 ปีขึ้นไป ราคาของอสังหาริมทรัพย์มีแต่เพิ่มมากขึ้น แต่ในระยะสั้น บางครั้งมีการแกว่งตัวของราคาเช่นกัน ขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมอีกนั่นแหละ อาจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และภัยธรรมชาติต่าง ๆ  ก็อาจทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆหยุดเกิดนิ่งกระทันหัน แต่ก็เป็นการชะงักแค่ช่วงเวลาสั้น ๆเท่านั้นเอง

ความนิยมขึ้นอยู่กับทำเล

ตามปกติของผู้ที่อยู่อาศัยในสถานที่แห่งหนึ่ง  มักจะคุ้นเคยกับที่นั้น  ไม่ค่อยย้ายไปไกลๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่น การย้ายถิ่นเพราะแต่งงาน หรือย้ายเพื่อหนีให้พ้นจากอันตรายต่างๆ รวมทั้งหนีเจ้าหนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น กลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นลูกค้า จึงมักจะเป็นผู้คนในบริเวณละแวกใกล้เคียงมากกว่าผู้คนจากส่วนอื่น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต่างๆ จึงมักจำกัดเฉพาะบริเวณ เพื่อให้มีความคุ้มทุน การลงโฆษณาขายในสื่อสารมวลชนต่างๆ จึงจำกัดในกรณีอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้สนใจทั่วๆ ไป เช่น ศูนย์การค้า เป็นต้น